เหตุผลและความเป็นมา
เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้รับรู้ และมีจิตที่จะร่วมกันสนับสนุน และสืบทอดโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของปวงชนชาวไทย ให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนตอ.) และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีความเห็นร่วมกันที่จะพัฒนากิจกรรมให้นักเรียนได้มีโอกาสรับรู้ เรียนรู้ โครงการตามแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ อย่างใกล้ชิด และลึกซึ้ง เข้าใจถึงหลักการ ความจำเป็น และประโยชน์ของโครงการ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจ ที่จะใช้ความรู้ ความสามารถ และทรัพยากรที่มี ร่วมกันสานต่อโครงการให้สัมฤทธิ์ผลและขยายผลไปไกล
ทั้งนี้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นแหล่งที่ผลิตนักเรียน อันเป็นทรัพยากรของประเทศที่มีศักยภาพมากมาย และสามารถเป็นกลไกสำคัญที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อ ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เติบโตได้อย่างกว้างขวางในอนาคตต่อไป รวมทั้งช่วยกันเผยแพร่องค์ความรู้ และประโยชน์ของโครงการดังกล่าว ให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ตระหนักและรับรู้อย่างกว้างขวาง ดังนั้น ฝ่ายกิจกรรมฯ สนตอ. จึงได้ริเริ่มจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์จริง ในโครงการของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่พัฒนาชุมชนให้เติบโตได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งตัวของนักเรียนเองก็จะได้รับการฝึกฝน พัฒนาให้เป็นคน มีจิตอาสา เป็นคนดีที่จะช่วยเหลือสังคมต่อไป
คณะกรรมการโครงการฯ
ประธานอำนวยการอาวุโส ดร. ปรเมษฐ์ โมลี
ประธานอำนวยการ คุณนฤมล ศิริวัฒน์
ประธานดำเนินการ คุณโกมินทร์ พิมทะโนทัย
รองประธานดำเนินการ คุณธเนศ เต็มทรัพย์อนันต์
ที่ปรึกษา คุณปรีชา ส่งกิตติสุนทร
ศ.(พิเศษ) พ.ต.ต.ดร. ยงยุทธ สาระสมบัติ
พล.ต.อ. สุนทร ซ้ายขวัญ
คุณธงชัย ล่ำซำ
น.อ.(พิเศษ) นพ. ไพศาล จันทรพิทักษ์
คุณชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์
พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ
คุณบุญทักษ์ หวังเจริญ
ดร.พสุ โลหารชุน
คุณสิริกร มณีรินทร์
ลักษณะของกิจกรรม ในปีการศึกษา ๒๕๖๐ กำหนด ๒ กิจกรรมหลักดังนี้
กิจกรรมที่ ๑ “ตระหนักรับรู้”
เข้าชมกิจกรรมต่างๆ ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นห้องทดลองขององค์ในหลวงรัชกาลที่ ๙
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และอาจารย์ จำนวนประมาณ ๑,๗๕๐ คน
ระยะเวลากิจกรรม
๑/๒ วัน โดยจัดห้องเรียนกระจายไปเรียนรู้ในช่วงเดือน ก.ค.- ธ.ค. ๒๕๖๐
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ทำให้นักเรียนผู้เข้าร่วมกิจกรรม สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เกิดแรงบันดาลใจที่จะศึกษา เรียนรู้ และสนใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ขับเคลื่อนโครงการต่างๆที่ได้ไปรับรู้
ทำให้นักเรียนผู้เข้าร่วมกิจกรรม เกิดแรงบันดาลใจ ที่จะเดินตามรอยพระบาท เป็นคนดี มีจิตอาสา เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติสืบไป
กิจกรรมต่อเนื่อง
พิจารณาเพื่อมอบหมาย
· ทำรายงานสรุป หรือ เขียน Blog เรียนรู้อย่างไร มีแรงบันดาลใจอย่างใด
· ให้นักเรียนแต่ละห้องร่วมกันคิดและทำโครงการที่ต่อเนื่อง จากการไปเรียนรู้ที่โครงการส่วนพระองค์ฯ
งบประมาณ
ประกอบด้วย ค่าพาหนะเดินทาง ค่าอาหารและเครื่องดื่ม อาหารว่าง รวมทั้งค่ากิจกรรมกระตุ้นและกิจกรรมต่อเนื่อง จำนวนเงินรวม ๗๐๐,๐๐๐ บาท
กิจกรรมที่ ๒ “ประสบการณ์จริง”
นำนักเรียนและอาจารย์ ไปสัมผัสและรับรู้ประสบการณ์จริง ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีทั้งหมด ๖ แห่งทั่วประเทศ เป็นที่ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ นำโครงการต่างๆไปทดลองทำจริง ในพื้นที่ที่สัมพันธ์กับงานโครงการ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯจะมีหน่วยงานราชการ กรม กองต่างๆที่เกี่ยวข้อง มาสนับสนุน มาร่วมวางแผนดำเนินการเป็นแบบ One stop service จนโครงการประสบผลสำเร็จ หลังจากนั้นก็นำไปช่วยเหลือชาวบ้านที่สมัครใจในการรับโครงการไป ลงมือปฏิบัติจริงพัฒนาเป็นอาชีพ โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เป็นผู้ให้คำปรึกษา (กิจกรรมลักษณะนี้ทางกองราชเลขาธิการได้ดำเนินการมาแล้ว ๔ รุ่น ในระดับอุดมศึกษา ใช้เวลาประมาณ ๒๔ วัน/รุ่น)
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
นักเรียนที่ผ่านกิจกรรม “ตระหนักรับรู้” อาสาสมัครจำนวน ๔๐-๕๐ คน
ระยะเวลากิจกรรม
ประมาณ ๑๕ วัน ในช่วงปิดเทอมเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ โดยเรียนรู้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ๒-๓ วัน ลงพื้นที่ปฏิบัติเรียนรู้อยู่กับชาวบ้าน ๑๒-๑๓ วัน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
· นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของประเทศชาติ ได้รับการฝึกฝนเรียนรู้ ถึงแนวคิด แนวปฎิบัติ กระบวนการการแก้ปัญหา การช่วยเหลือ การมีส่วนร่วม ตามแนวทางการทำงานของในหลวง รัชกาลที่ ๙ รวมทั้งได้เรียนรู้ถึงหลักการทรงงาน ศาสตร์ของพระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ ซึ่งนักเรียนสามารถนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต
· ครูอาจารย์ที่ร่วมไปกับกิจกรรม ได้รับความรู้ ได้เห็นของจริง สามารถนำความรู้ต่างๆมาพัฒนาต่อยอดในการเรียนการสอน ในชั้นเรียน
กิจกรรมต่อเนื่อง
พิจารณาเพื่อมอบหมาย
· นักเรียนจัดกลุ่มกันทำโครงการที่เป็นประโยชน์ โดยใช้ความรู้ที่ได้รับจากการเรียนรู้มาเป็นแนวทาง และนำผลของโครงการมานำเสนอให้กับ นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาในช่วงเปิดเทอม ปีการศึกษา ๒๕๖๑
งบประมาณ
ค่าพาหนะเดินทาง ค่า Organizer ค่าอาหารและที่พัก ค่าวิทยากร ค่ากิจกรรมกระตุ้น กิจกรรมต่อเนื่อง ประมาณ ๒.๓ ล้านบาท
งบประมาณรวมทั้ง ๒ กิจกรรม ประมาณ ๓.๐ ล้านบาท