Sidebar

Magazine menu

13
Fri, Sep

ปรับทัศนคติ “อุดมศึกษาไทย”

Typography

ปรับทัศนคติ “อุดมศึกษาไทย”

                           รศ.ดร.ชัยวุฒิ ฉัตรอุทัย

ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)

อุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน แม้จะมีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นในอีกหลาย ๆ ด้านที่ยังคงหาทางออกไม่ได้ จนมีการกล่าวกันว่าเกิด “วิกฤติอุดมศึกษา” ขึ้นแล้ว นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา นโยบายรัฐบาลที่ต้องนำมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบราชการเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องแบกรับภาระ เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผูกพันกับสัญญาการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้มหาวิทยาลัยของรัฐที่จัดตั้งขึ้นใหม่ต้อง "ออกนอกระบบ" ราชการ  มหาวิทยาลัยของรัฐเดิมทั้งหมดไม่มีการบรรจุอัตราข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งที่บรรจุเข้าใหม่จะเป็น "พนักงานมหาวิทยาลัย" ซึ่งมีกรอบเงินเดือนและสวัสดิการแตกต่างจากข้าราชการพลเรือน และให้มหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งต้องพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ออกนอกระบบ)

ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารมหาวิทยาลัยมากขึ้น แต่การเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบก็ส่งผลทำให้สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น พัฒนาการไปสู่การดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง มหาวิทยาลัยพยายามหาช่องทางที่จะนำรายได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเพิ่มค่าเล่าเรียน และการเปิดหลักสูตรจำนวนมาก รวมทั้งการมุ่งผลิตผลงานวิจัยขั้นสูง สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนตัวเองให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก อย่างไรก็ตาม การวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนหรือสังคมไทยโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับว่าสามารถนำไปแก้ปัญหาได้มากน้อยเพียงใดก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญ มหาวิทยาลัยคงจะต้องตอบคำถามสังคมในแง่ประโยชน์ที่สังคมไทยจะได้รับจากการเข้าสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก

การที่มหาวิทยาลัยมีระบบประกันคุณภาพการศึกษาที่เข้มข้นแต่มีความซ้ำซ้อน เป็นการสร้างมาตรฐานเชิงเดียวขึ้นใช้กับทุกสาขาวิชา มหาวิทยาลัยถูกวัดคุณภาพด้วยผลงานเชิงปริมาณเป็นหลัก รวมทั้งการใช้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) เพื่อควบคุมให้การเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยเป็นไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกันก็มาพร้อมกับตัวชี้วัดจำนวนมาก เพื่อใช้วัดผลการดำเนินงานของหลักสูตรและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนด เป็นการสร้างภาระทางเอกสารจำนวนมากที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพทางวิชาการให้กับคณาจารย์ ในขณะเดียวกันการเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในบางสาขาวิชาที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ก็ทำให้เกิดปัญหาในด้านจรรยาบรรณตามมา มีกรณีร้องเรียนการคัดลอกผลงานที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่การถอดถอนปริญญาบัตรในบางมหาวิทยาลัย ทำให้สังคมเริ่มไม่เชื่อถือคุณภาพของหลักสูตรในบางสาขาวิชา

การเปลี่ยนแปลงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาจากระบบสอบเข้ากลาง (Entrance) มาเป็นระบบรับเข้ากลาง (Admission) เพื่อแก้ไขปัญหาการกวดวิชาและต้องการให้เด็กอยู่ในระบบโรงเรียน โดยให้นำผลการเรียนมาพิจารณาด้วยและเด็กรู้ผลคะแนนตนเองก่อนเลือกเข้าศึกษา ปรากฏว่าการนำเกรดเฉลี่ยมาใช้ทำให้บางโรงเรียนเริ่มมีการปล่อยเกรด จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนอีกโดยใช้การสอบ O-NET (Ordinary National Educational Test) และ A-NET (Advanced National Educational Test) เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละมหาวิทยาลัยสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ค่าน้ำหนักได้เอง ล่าสุดก็ยังคงแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ มีการเปลี่ยนการสอบ A-NET เป็น GAT (General Aptitude Test) และ PAT (Professional Aptitude Test) ปัจจุบันนี้พบว่าปัญหาการกวดวิชาก็ยังคงมีอยู่ต่อไปและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นด้วย และยังมีปัญหาที่แฝงตัวอยู่ตลอดมาคือ กิจกรรมการสอบตรงของแต่ละมหาวิทยาลัยที่สร้างภาระให้กับผู้ปกครองเป็นอย่างมากในด้านค่าใช้จ่ายและเวลา

ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 ระบบการจัดการศึกษาของไทยได้ถูกปรับเปลี่ยนตามมติที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยให้สถาบันอุดมศึกษาเปลี่ยนการเปิด-ปิดภาคเรียนให้ตรงกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ภาคเรียนที่ 1 เปิดเรียนเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม และภาคเรียนที่ 2 เปิดเรียนเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ในการปรับเปลี่ยนดังกล่าวทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องระหว่างอุดมศึกษากับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (โรงเรียนเปิด-ปิดเหมือนเดิม) สร้างผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการจัดการเรียนการสอน การสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าและทรัพยากรน้ำ (ช่วงฤดูร้อน) การเกณฑ์ทหาร การสมัครงาน อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย เมื่อเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมาที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอให้ทบทวนการเปิด-ปิดภาคเรียนโดยมอบรายงานการศึกษาความคิดเห็นการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนของมหาวิทยาลัยสมาชิกที่ประชุม ปอมท. (27 แห่ง) ที่มีความคิดเห็นโดยรวมต้องการให้การเปิด-ปิดภาคเรียนกลับไปเป็นเหมือนเดิม

ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวไว้ว่า “จิตวิญญาณของมหาวิทยาลัย คือ จิตวิญญาณของชุมชนทางวิชาการ อุดมศึกษาต้องทำหน้าที่ค้ำจุนและสร้างสรรค์สังคมร่วมกับสถาบันอื่น ๆ โดยทำหน้าที่จากรากฐานความเป็นชุมชนวิชาการที่เชื่อมโยงกับสังคมอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน” 

คงถึงเวลาที่จะต้องเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุดมศึกษาไทยมา “ปรับทัศนคติ” กันเถอะ

28 พฤษภาคม 2559