Sidebar

Magazine menu

21
Thu, Nov

ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน

Typography


" ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน "

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

แม่ผัน มีลูก ๕ คน ปีนี้ ย่างเข้า ๗๔ ปีแล้ว เรียนจบประถมสาม สามีเสียชีวิตตั้งแต่ลูกคนเล็ก อายุได้สองขวบ
แม่ผันเลี้ยงลูกคนเดียว หนักเอาเบาสู้ ทำไร่ทำสวน รับจ้างทั่วไป เป็นคนขยัน ประหยัด มัธยัธถ์

ด้วยความที่คิดว่า ตัวเองด้อยการศึกษา ชีวิตจึงลำบาก แม่ผัน จึงตั้งใจส่งให้ลูกได้เรียนตามความสามารถของแต่ละคน จนจบปริญญาตรีกันได้ทุกคน

ยกเว้น นุช ลูกสาวคนโต ที่ต้องออกจากโรงเรียนเมื่อจบประถมต้น เพื่อมาช่วยแม่ปลูกผัก ขายของที่ตลาด และช่วยแม่ผันเลี้ยงน้องทุกคน ด้วยความอดทน แม้จะเคยนึกน้อยใจในโชคชะตาของตัวเองบ้าง แต่แม่ก็พร่ำสอน ให้ เสียสละ ช่วยแม่ ส่งน้องเรียน เพื่อทุกคน จะได้มีอนาคตที่ดีร่วมกัน

ลูกชายคนที่สอง เรียนเก่ง เมื่อ เรียนจบได้ทำงานบริษัทที่มั่นคง ไต่เต้าจนได้เป็น ผู้จัดการโรงงานที่ต่างประเทศ มีฐานะที่ดี แต่งงาน มีครอบครัวที่นั่น ไม่ค่อยได้กลับบ้าน ส่งเงินมาช่วยทางบ้านบ้าง เป็นช่วงๆ ลูกชายโทรมาคุยด้วย ๒-๓ เดือนครั้ง ทุกครั้งแม่ผันก็ดีใจ ตื่นเต้นจนไม่เป็นอันกินอันนอนไป หลายวัน

ส่วนลูกสาวอีกสามคน ก็มีครอบครัวแยกย้ายไปต่างอำเภอ ต่างจังหวัด กันหมด แม่ผัน จึงอยู่กับ นุช มาตลอด

จนเมื่อ อายุย่างเข้า ๗๑ ก็เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ ไอโขลกๆ ทั้งวัน กินอาหารได้น้อย ผอมลงมากรักษาตามบ้าน พบหมออนามัย เป็นครั้งคราว อาการทรงๆทรุดๆ มาเป็นปี สุดท้าย ได้รับการส่งต่อไปตรวจทีโรงพยาบาลจังหวัด
ตรวจอยู่หลายวัน จึงพบว่า เป็น มะเร็งปอด ระยะที่สอง จึงได้รับ การรักษา ด้วยเคมีบำบัด กับฉายแสง อยู่เกือบปี

ช่วงแรกแม่ผัน แพ้ยา ผมร่วง มีอาการอาเจียนตลอดเวลา ระหว่าง การรักษา นุช ดูแลแม่คนเดียวเป็นส่วนใหญ่ ลูกสาวอีกสามคนผลัดกันมาเยี่ยม อยู่เฝ้าไข้ได้สองสามวันก็กลับ เพราะมีลูกเล็ก และ ต้องทำงาน ลางานไม่ได้
ส่วนลูกชาย แม่ผัน สั่งลูกทุกคน ห้ามบอกเรื่องป่วย เพราะไม่อยากให้เป็นห่วง จนต้องทิ้งงานกลับมาเยี่ยม

แม่ผัน อาการดีขึ้นไม่นาน ขาด้านซ้ายก็เริ่มไม่มีแรง ล้มบ่อย พูดไม่รู้เรื่อง สับสน และไม่รู้สึกตัวบ่อยๆ นุช เฝ้าพยาบาลแม่ด้วยความกังวล
เวลาแม่ได้สติ แม่บอกนุช ว่า "ลูก แม่เจ็บเหลือเกิน เจ็บคราวนี้ แม่คิดว่า คงได้เวลาของแม่แล้วนะ ปล่อยแม่ไปเถอะ แม่อยากกลับไปตายที่บ้านเรา "

นุชแอบร้องไห้ ไม่ให้แม่เห็น ปากก็บอกแม่ว่า "เดี๋ยวแม่ก็ดีขึ้น เหมือนคราวก่อนไง " ทั้งที่ใจเต็มไปด้วยความเวทนาแม่ที่ ทุกข์ ทรมาน อย่างที่ไม่คิดว่า จะมีใครทนแบบแม่ได้
ใจหนึ่ง ก็อยากให้แม่อยู่ต่อ เพราะรักแม่มาก อีกใจก็คิดว่า ทรมานแบบนี้ ถ้าเป็นตัวเอง คงจะไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ แต่ก็ไม่กล้าพูดกับใคร

แม่ผัน อยู่ห้องผู้ป่วยหนัก ตรวจเลือด เอกซเรย์ หลายครั้ง สุดท้าย หมอบอกด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ว่า มีก้อนในสมองด้านขวา อาจจะเป็นก้อนมะเร็ง ที่แพร่เข้าสู่สมอง สอบถามญาติ ว่าจะให้ ส่งไปรักษาที่กรุงเทพหรือไม่ โดยแจ้งว่า ถ้าประเมินแล้วสามารถผ่าตัดได้ หลังผ่าตัด อาจต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ใส่ท่อให้อาหาร และหากปัสสาวะเองไม่ได้ ก็ต้องคาสายยางไว้
นุชเอง คิดว่า ตัวเองเรียนมาน้อย ตัดสินใจไม่ได้ ขอหมอปรึกษา ญาติ และน้องๆก่อน จึงโทรไปตาม น้องชาย และ น้องสาวทั้งสามคนมา ดูอาการแม่

น้องสาวคนที่ สาม เป็นครู มาเห็น ก็ร้อนใจ อยากเอาแม่ไปกรุงเทพฯ เผื่อจะมีวิธีอื่นที่ ช่วยแม่ได้ แต่ก็ไม่รู้จักใครที่กรุงเทพฯ ที่จะพอไปพักอาศัยได้
ส่วนอีกสองคน ว่าจะไปเอายาต้มมาให้แม่กิน จะพาไปรักษากับหมอพื้นบ้าน
แต่ทุกคน ก็เข้าใจตรงกันว่า อาการของแม่ดำเนินมาถึงระยะสุดท้าย รักษาไม่หายแล้ว แพทย์พยาบาลที่ดูแลกันมานานก็แจ้งว่า ผู้ป่วยกำลังจะเสียชีวิตในเวลาอีกไม่นาน แนะนำให้เตรียมตัวรับมือกับความสูญเสีย รีบสะสางภารกิจที่คั่งค้าง และหากประสงค์ จะให้ แม่ไปโดยสงบ ก็ขอให้ร่วมกันทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการยื้อชีวิตที่ผู้ป่วยไม่ต้องการ เช่น ปั๊มหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจ การให้ยากระตุ้นหัวใจ ผู้ป่วย

ลูกทั้งสี่คน ก็ดูจะเข้าใจสถานการณ์ดี สุดท้ายตกลงยินยอมรับในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

วันรุ่งขึ้น ลูกชายที่ทราบข่าว ลางานกลับมา เมื่อเห็นพบแม่อาการทรุดหนัก ก็โกรธ ต่อว่าพี่นุชและน้องๆ ว่าดูแลแม่ยังไง ให้อาการมากขนาดนี้
แล้วยังทำหนังสือ ไม่ให้หมอช่วยแม่อีก
พี่นุช และน้องๆ นิ่งเงียบ ตระหนกกับ ความโกรธ ของลูกชายที่แม่รักที่สุด ลูกชาย ขอให้หมอ ส่งแม่เข้าไปรักษา ที่โรงพยาบาลเอกชน ด่วนที่สุด กำชับหมอให้ช่วยแม่ให้ถึงที่สุด ให้ปั๊มหัวใจ ใส่ท่อหายใจ ทำอย่างไรก็ได้ให้แม่รอดพ้นวิกฤติคราวนี้ให้ได้

ถึงตอนนี้ ครอบครัวแม่ผัน เกิดความลังเล หวั่นไหว อีกครั้งหนึ่ง นั่งซึมเหม่อ ร้องไห้กันทุกคน
แม่ผัน อยู่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนไม่นาน ก็ต้องย้าย กลับโรงพยาบาลเดิม เพราะปัญหาค่าใช้จ่าย ส่วนลูกชายอยู่ดูแลแม่ได้สิบกว่าวัน ก็ต้องถูกตามกลับไปต่างประเทศ เนื่องจากมีงานด่วนต้องสะสาง ก่อนไป กำชับให้ดูแลแม่ให้ดีที่สุด

แม่ผัน นอนไม่รู้สติ ใส่ท่อหายใจ ใส่ท่ออาหาร ใส่สายปัสสาวะ น้ำเกลือ ระโยงระยาง นานอีก ๒ เดือนกว่า อย่างทรมาน โดยเฉพาะเวลา ต้องดูดเสมหะ แม่ผันเพ้อ ไม่ได้สติ มีแผลกดทับที่หลัง นุชจับตัวแม่ รู้สึกว่าแม่ตัวสั่นเทิ้ม ทรมาน กระสับกระส่าย ตลอดเวลา จนกลั้นน้ำตาไม่ไหว ร้องไห้ทุกวัน จนในที่สุด แม่ผันก็จากไป ด้วยความทุรนทุราย ด้วยทุกขเวทนาเป็นอันมาก

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

นี่คือตัวอย่างของ ภาวะ "กตัญญูเฉียบพลัน"

ที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง ในการดูแลผู้ป่วยหนักระยะสุดท้าย ที่มักจะเกิดขึ้นกับ ลูก/หลาน ที่ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีเวลา ไม่ค่อยได้ดูแลเอาใส่ใจพ่อแม่ ทั้งในเวลาปกติ และยามเจ็บป่วย
เมื่อถึงช่วงของการเจ็บป่วย ระยะสุดท้าย ก็มักจะทุ่มเททั้งเงิน และ ความพยายามทุกอย่าง เพื่อให้แพทย์ ได้ให้การรักษา เพื่อให้รอดชีวิต จนลืมคิดไปว่า ในกระบวนการรักษานั้น ผู้ป่วยจะทรมานเพียงใด

เพียงเพื่อจะยื้อยุดชีวิต จากความตายที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะตัวเองตั้งรับไม่ทัน ทำใจไม่ได้

กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกสังคม มาตลอด แต่ในยุคปัจจุบันพบได้บ่อยขึ้น อาจเป็นเพราะ ความเจริญก้าวหน้า ของโลกในปัจจุบัน ทำให้การโยกย้าย ถิ่นฐาน เพื่อการศึกษา และการทำงาน เป็นไปได้ง่าย ทำให้ความใกล้ชิด ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ระหว่างคนในครอบครัว ลดลง การที่จะได้มีโอกาสดูแลกันเมื่อเจ็บป่วยน้อยลง ประกอบกับความเจริญ ก้าวหน้าในวงการแพทย์ ทำให้ เราสามารถรักษาโรคยากๆ และซับซ้อนได้มากขึ้น จนทำให้คิดได้ว่า ทุกโรครักษาได้ หากมีเงิน และโอกาส
โดยส่วนใหญ่ลืมไปว่า กระบวนการยื้อชีวิตไปนั้น มิใช่กระบวนการที่ราบรื่นเสมอไป และส่วนใหญ่เต็มไปด้วย ความเจ็บปวด ทรมาน

ดังนั้น เมื่อยามต้องจากกันด้วยความตายจริงๆ บรรดาลูกๆ หลานๆ ที่ต้องมารับทราบกระทันหัน ไม่เคยมีส่วนร่วมในการดูแลมาก่อน จึงเกิดความรู้สึกผิด และเสียใจที่รู้ตัวว่าไม่เหลือเวลาแล้วที่จะตอบแทนบุญคุณ ของพ่อแม่ ผู้กำลังจะจากไป ไม่มีโอกาสทำดีตอบแทน
รวมไปถึงการเข้าใจว่า ความกตัญญู คือ การที่ต้องช่วยทำให้คนที่เรารักให้มีชีวิตอยู่ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และควรจะทุ่มเททุกอย่างทั้งหมด เท่าที่จะทำได้ ไม่ว่า จะต้องใช้เงินเท่าไร ต้องเป็นหนี้สินเท่าไร ขอให้สามารถรักษา ชีวิต ของบุพการี ให้นานที่สุด คือ สิ่งที่ดีที่สุด

สำหรับ แพทย์ พยาบาล และทีมงาน ทางการแพทย์ ที่เห็น วัฎจักร ชีวิต ตั้งแต่เกิด จนตาย ตลอดเวลาที่ ได้เล่าเรียน ศึกษา และ ช่วงที่ ปฎิบัติงาน ซ้ำๆ ในทุกวัน จนเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี เพราะเห็นตัวอย่างมามากมาย แต่การเข้าไป ทำความเข้าใจกับ ญาติกลุ่มนี้ ที่กำลัง อยู่ในอารมณ์ โกรธ คับข้องใจ ปนเป กับ ความเสียใจ และที่สำคัญที่สุด คือ ความรู้สึกผิดในใจของคนเหล่านั้น เป็นเรื่องยากที่จะทำได้

นอกจากนี้ ปัญหาระหว่างความสัมพันธ์ ของผู้ที่กำลังจะเสียชีวิต ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่า จะเป็นความบาดหมาง ความน้อยใจ เสียใจ ในวัยเด็ก ของแต่ละคน ล้วนทำให้ เรื่องยิ่งยุ่งยากซับซ้อน ไปอีก
เพราะ การที่ยังมิได้ ทันสะสาง ปรับความเข้าใจ ไม่ทันสั่งเสีย อโหสิกรรมให้กันและกัน ล้วนทำให้ ว้าวุ่นใจได้มากมาย หากต้องจากกันแบบกะทันหันเช่นนี้

มรณานุสติ สอนว่า เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมกับการจากกัน แบบกะทันหัน
ลองสำรวจตัวเอง ลองถามตัวเราเองว่าในปัจจุบันเรา ได้ดูแล ได้ทำดีที่สุด กับคนที่คุณรักแล้วหรือยัง
เราได้ติดค้าง คำพูด คำถาม หรือสิ่งใด ที่อยากจะพูดให้รับทราบ เพื่อปรับความเข้าใจกันแล้วหรือยัง ถ้ายังให้รีบทำเสีย
เพื่อว่า เมื่อวันนั้นมาถึง เราจะได้ไม่ต้องเสียใจ ที่พลาดโอกาสนี้ไป โดยไม่มีโอกาสแก้ตัวใหม่

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

บทสรุปของเรื่องนี้

๑.ความกตัญญูเป็นเรื่องสำคัญที่ควรมีในคนทุกคน โดยที่ มิใช่ ต้องมีเพื่อที่จะเติมเต็มความสมบูรณ์ ของความเป็นคนดี เพราะความกตัญญู เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของคนดีทุกคน

๒.การตัดสินใจเรื่องการยื้อชีวิต ยังคงอิงอยู่บนพื้นฐาน สามัญสำนึกว่า

" หากยังมีโอกาสกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติได้ ให้ช่วยให้เต็มที่ และ ทำอย่างสุดความสามารถ "

๓.หากเป็นการยื้อชีวิตในการป่วยหนักระยะสุดท้ายของชีวิตจริงๆ หากเราต้องตัดสินใจแทนผู้ป่วย ให้ถามตัวเองว่า ถ้าสมมติว่าเป็นเราป่วยเอง หากช่วยแล้วรอดชีวิต แต่ต้องทรมานต่อไปไม่รู้อีกนานเท่าไร ท่านจะคิดอย่างไร จะตัดสินใจอย่างไร

๔.ทุกคน ล้วนปรารถนา ให้ เกิด..มีชีวิต..และจากไป อย่างมี ศักดิ์ศรี ของ ความเป็นมนุษย์ ด้วยกันทั้งสิ้น

No one knows that they will have the next minute or not.

Let them have the fullest life anytime.

#หมอปันเฌอ
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
๑๑ มีนาคม ๒๕๕๙

เครดิตภาพ : http://med.mahidol.ac.th/ramamental/generaldoctor/06052015-1327

: วลี ภาษาอังกฤษ ตอนท้าย ไม่ทราบที่มา ขออนุญาตเผยแพร่ด้วยครับ

: ชื่อ ในเรื่อง เป็น นามสมมุติ ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ใด หรือหมายถึงใคร