Sidebar

Magazine menu

21
Thu, Nov

คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่ออนาคตอุดมศึกษาไทย

Typography

คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่ออนาคตอุดมศึกษาไทย

การคัดเลือกนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของประเทศไทยมีพัฒนาการเริ่มจากตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2504 มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เป็นมหาวิทยาลัยปิดใช้การจัดสอบคัดเลือกกันเอง  ต่อมาเริ่มมีบางมหาวิทยาลัยร่วมมือกันใช้การสอบคัดเลือกกลาง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้วิธีที่แต่ละมหาวิทยาลัยดำเนินการจัดสอบคัดเลือกเอง จนกระทั่งปีการศึกษา 2516 ทบวงมหาวิทยาลัยได้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสอบคัดเลือกร่วมกันทั้งหมดที่เรียกว่าระบบเอ็นทรานซ์ (Entrance) ซึ่งในสมัยนั้นนักเรียนสามารถเลือกคณะที่ต้องการเข้าศึกษาได้ 6 อันดับ ระบบเอ็นทรานซ์ได้ใช้ต่อเนื่องกันมาจนถึงปีการศึกษา 2548 จึงมีการปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นระบบกลางหรือแอดมิชชันส์ (Admissions) และระบบรับตรงจนถึงปัจจุบัน ผู้รู้ในวงการศึกษาได้ให้ความเห็นไว้ว่าสาเหตุที่มีการปรับเปลี่ยน เนื่องจากในอดีตประเทศไทยมีจำนวนสถาบันอุดมศึกษาและสาขาวิชาให้เลือกน้อย แต่ปัจจุบันมีจำนวนสถาบันอุดมศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นและมีสาขาวิชาให้เลือกมากมาย ซึ่งในแต่ละสาขาวิชามีเงื่อนไขและความต้องการที่แตกต่างกันไป อีกทั้งมีผู้สมัครจำนวนมาก จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการคัดเลือกให้หลากหลายมีความเป็นมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของคณะและสาขาวิชา

ในปัจจุบันระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมีหลากหลายรูปแบบ เริ่มต้นจากการจัดสอบโควตาพื้นที่ การจัดสอบตรง (ออกข้อสอบเอง) เพื่อคัดเลือกนักเรียนของบางกลุ่มคณะหรือสาขาวิชาการรับตรง (ยื่นคะแนน) ของแต่ละมหาวิทยาลัย การรับในระบบแอดมิชชันส์ และการรับตรงหลังจากการแอดมิชชันส์ หลังจากที่อุดมศึกษาไทยได้ใช้ระบบการคัดเลือกแบบนี้มาเป็นเวลาสิบปีแล้ว (ระยะที่ 1 พ.ศ. 2549 – 2552 และระยะที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2553) ได้ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่ากิจกรรมเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดปัญหากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ประกอบด้วย นักเรียน/ผู้ปกครอง ครู/โรงเรียน และคณะ/มหาวิทยาลัย

เนื่องจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งจะเริ่มกระบวนการรับเข้าศึกษาตั้งแต่ต้นภาคเรียนที่ 2 นักเรียน ม.6 ส่วนใหญ่ต้องทำการสอบหลายครั้งมากเกินไปซึ่งเกิดมาจากความคาดหวังของนักเรียน/ผู้ปกครองเอง เช่น ต้องการเรียนในสาขาวิชายอดนิยม ต้องการเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียง ทำให้เกิดแรงกดดันเป็นการเพิ่มความเครียด อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นในส่วนที่เป็นค่าสมัครสอบและค่าเดินทาง จะเห็นได้ว่าระบบที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแบบนี้ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนมีสิทธิ์ในการคัดเลือกเข้าสถาบันอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

ผลกระทบอีกอย่างก็คือ นักเรียนส่วนหนึ่งไม่ได้ใช้เวลาในห้องเรียนครบตามหลักสูตรเกิดสภาพการละทิ้งห้องเรียนเพื่อไปวิ่งรอกสอบโควต้า สอบตรง ทำให้เกิดแนวโน้มที่โรงเรียนจะพยายามเร่งสอนให้จบก่อนเวลา เพื่อให้นักเรียนของตนมีความพร้อมด้านเนื้อหาสำหรับการสอบสูงที่สุด โดยคาดหวังให้นักเรียนสอบเข้าศึกษาในสถาบันที่ดี หรือในสาขาวิชายอดนิยมได้มาก ๆ เพื่อทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียง มีนักเรียนเก่งเข้ามาเรียน มีครูเก่งเข้ามาสอน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความแตกต่างในการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาของนักเรียนระหว่างโรงเรียนในชุมชนเมืองและชุมชนชนบท และมีโอกาสนำไปสู่การปล่อยเกรดของโรงเรียน ต้องยอมรับว่าปัญหานี้เป็นกลไกหนึ่งที่เชื่อมโยงและส่งผลกระทบไปยังกลไกของกระบวนการจัดการเรียนการสอนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ระบบการรับเข้าและลักษณะข้อสอบ (ปรนัย) ที่ใช้ในการคัดเลือกจะเป็นการชี้นำกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างแน่นอน

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่านักเรียนส่วนหนึ่งที่สอบได้โควต้าหรือสอบได้จากการสอบตรงหรือการรับตรงมากกว่า 1 แห่ง สุดท้ายก็ต้องสละสิทธิ์เหลือเพียงแห่งเดียวในภายหลัง เป็นการกันที่ทำให้นักเรียนคนอื่นต้องเสียโอกาสไป และทำให้หลายสาขาวิชารับนักศึกษาไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้มีผลต่อการบริหารจัดการหลักสูตรของคณะ/มหาวิทยาลัย และอีกปัญหาหนึ่งในเชิงคุณภาพที่พบก็คือ นักเรียนส่วนหนึ่งที่สอบได้ในสาชาวิชาต่าง ๆ มีความสามารถและทักษะไม่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่เรียนซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพของสาขาวิชารวมไปถึงการพัฒนาในระดับบัณฑิตศึกษา

สรุปได้ว่าในปัจจุบันระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษามีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาทั้งระดับขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา ถึงเวลาหรือยังที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะต้องร่วมมือกันกำหนดแนวทางการคัดเลือกบุคคลเข้าสถาบันอุดมศึกษาที่มีความชัดเจนและมีความยุติธรรม ต้องให้นักเรียนได้ใช้เวลาเรียนในห้องเรียนครบตามหลักสูตร ลดค่าใช้จ่ายในการสอบลดการแข่งขัน ลดความเครียดในการสอบ ลดการกวดวิชา และไม่ต้องวิ่งรอกสอบเข้าเรียน โดยการใช้คะแนนจากข้อสอบกลางซึ่งหมายถึง ข้อสอบวิชาการ GAT/PAT, วิชาสามัญ, O-NET, และ GPAX เพียงอย่างเดียวไม่มีการสอบตรง (ไม่มีการจัดสอบเอง) เพื่อใช้คัดเลือกในระบบแอดมิชชันส์ การรับโควตา และการรับตรง และจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งทั้งของรัฐและเอกชน กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏและกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มีการคัดเลือกร่วมกันภายใต้ความเป็นอิสระทางวิชาการของแต่ละมหาวิทยาลัย อีกทั้งจะต้องส่งเสริมระบบการแนะแนวในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยต้องมีช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูลของสถาบันอุดมศึกษาไปยังโรงเรียน เช่น มีศูนย์แนะแนวเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ชัดเจนให้นักเรียนและผู้ปกครองในการตัดสินใจเลือกเรียนตามความถนัดและความต้องการได้อย่างเหมาะสม

แต่สิ่งที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้ คือ กระทรวงศึกษาธิการจะต้องรีบดำเนินการกำหนดมาตรการสนับสนุนการจัดการด้านอาชีวศึกษาให้มีความเข้มแข็งเพื่อให้นักเรียนที่มีความถนัดด้านวิชาชีพเบนเข็มหันไปเรียนอาชีวศึกษาให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศ เฉพาะในปี 2559 มีความต้องการกำลังคนด้านอาชีวศึกษาถึง 950,000 คน ในขณะที่โดยภาพรวมของอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนผลิตได้เพียง 430,000 คน ยังคงขาดแคลนกำลังคนอีกจำนวนมาก

รศ.ดร.ชัยวุฒิ ฉัตรอุทัย

ประธานสภาคณาจารย์และพนักงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

19 กรกฎาคม 2559

อ้างอิง: สภาการศึกษาเสวนา ครั้งที่ 7 เรื่อง “ระบบคัดเลือกเข้าสถาบันอุดมศึกษากับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย” 30 พฤษภาคม 2559 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา